การจัดสร้างโรงเรือนเลี้ยงหมูป่า
อันดับแรกของการเลี้ยงหมูป่าก็คือ จะต้องมีการสร้างโรงเรือนเลี้ยงหรือคอก
ซึ่งโรงเรือนเลี้ยงหมูป่าจะสร้างคล้ายโรงเรือนการเลี้ยงหมู เป็ด ไก่ธรรมดา
เพียงแต่ว่าโรงเรือนสัตว์พวกเป็ด ไก่ เหล่านั้นมักจะสร้างให้โรงเรือนโปร่งอากาศถ่ายเทสะดวก
และรักษาความสะอาดง่าย แต่โรงเรือนหมูป่าจะสร้างให้ทึบกว่าโรงเรือนของสัตว์พวกนี้
เพราะหมูป่าเป็นสัตว์ที่ตื่นตกใจง่าย ถ้าปล่อยให้ตื่นมักจะวิ่งไม่ค่อยหยุด
อีกอย่างหนึ่งถ้าตกใจจะมีผลต่อระบบขับถ่ายคือ ทำให้ท้องร่วง
ดังนั้นนอกเหนือจากโรงเรือนซึ่งต้องทำให้ทึบแล้ว รอบๆ โรงเรือนสูงจากพื้นประมาณ
1 เมตรเศษยังต้องสร้างแผงปิดกั้นรอบๆ โรงเรือนเพื่อไม่ให้หมูป่าเห็นสิ่งรบกวนภายนอกมากนัก
แผงกั้นอาจทำด้วยแผงไม้ไผ่หรือทำด้วยกระสอบป่านผ่าซีกและขึงด้วยกรอบไม้ก็ได้
สำหรับพื้นโรงเรือนถ้าเลี้ยงบนพื้นดินธรรมดาแล้วจะทำให้เนื้อตัวสกปรก
และง่ายต่อการเป็นโรค แต่ถ้าเลี้ยงบนพื้นซีเมนต์หยาบแบบหมูบ้านทั่วไปก็ได้ผลไม่ดีทำให้เท้าเกิดบาดแผลได้
สรุปแล้ววิธีที่ดีที่สุดสำหรับพื้นโรงเรือนก็คือ ควรทำเป็นพื้นคอนกรีตแบบขัดมัน
เพราะนอกจากจะง่ายต่อการทำความสะอาดแล้วยังเป็นการป้องกันการกระโดดออกจากคอกเลี้ยงได้
ซึ่งบางตัวกระโดดได้สูงมาก สามารถกระโดดได้สูงกว่า 2 เมตรทีเดียว
ส่วนคอกเลี้ยงหมูป่านั้น ภายในโรงเรือนแต่ละหลังจะแบ่งคอกย่อยออกเป็น
2 ด้าน โดยจะมีทางเดินอยู่ตรงกลาง คอกเลี้ยงควรสร้างด้วยตาข่ายเหล็ก (ลวด)
แบบที่ใช้ทำรั้วทั่วๆ ไป ที่มีขนาดตา 6 นิ้ว ขนาดของคอกเลี้ยงแต่ละคอกกว้างประมาณ
2 - 2 .50 เมตร ยาวประมาณ 3 เมตร ในแต่ละคอกเลี้ยงหมูป่าได้ 1 ตัว หรืออาจหลายตัวก็ได้ตามขนาดของหมูที่เลี้ยง
คอกแต่ละคอกมีความสูงประมาณ 1.50 เมตร ซึ่งสามารถป้องกันการกระโดดหนีของหมูป่าได้
หรือสูงถึง 1.80 เมตรก็ได้ และมีประตูปิด - เปิดด้านหน้า (ช่องทางเดิน)
แต่สำหรับคอกแม่หมูป่าที่มีลูกนั้น จะต้องทำคอกพิเศษโดยเปิดช่อง (จะมีแผ่นเหล็กบางๆ
ที่ปิดเปิดได้) ไว้สำหรับให้ลูกหมูออกมาจากคอกใหญ่ได้ เพื่อให้ลูกหมูป่าลอดออกมากินอาหารเสริม
แต่จะต้องใช้ไม้ตีกั้นเป็นกรงต่างหากไว้ภายนอกด้วย
ทั้งนี้เพื่อกันไม่ให้ลูกหมูป่าออกมาเดินเพ่นพ่าน และสะดวกในการจับลูกหมูฉีดยา
หรือดูแลเวลาเป็นอะไรขึ้นมา เพราะแม่หวงลูกมากหากกระทำในคอกเลี้ยงแม่พันธุ์แล้วอาจได้รับอันตรายได้
0 comments:
Post a Comment